info@tangopilgrim.com | +66 954789624
วิธีดูแลเครื่องดนตรี

สำหรับคนที่ชื่นชอบและรักการเล่นดนตรีแล้ว เครื่องดนตรีถือว่าเป็นอุปกรณ์คู่ใจสุดรัก สุดหวงที่แม้แต่จะเปื้อนนิดหน่อยก็ไม่ได้ ยิ่งเป็นเครื่องดนตรีประเภทไม้แล้ว มีรอยขีดข่วนนิดหน่อยก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหาทางแก้ยากมาก ถึงแก้ไปก็ไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมแบบ 100% ได้เลย แล้วจะมีวิธีดูแลเครื่องดนตรีประเภทไม้อย่างไรกันล่ะ วันนี้มาดูไปพร้อมๆ กันเลย 

วิธีการเก็บรักษาเครื่องดนตรีประเภทไม้

  1. หลังเลิกเล่นทุกครั้งต้องลดสาย ปลดเชือกหรือทำอย่างอื่นตามลักษณะเฉพาะของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดให้อยู่ในสภาพที่จะเก็บหรือไม่ใช้งาน เพราะไม่เกิดความเสียหายในระหว่างการจัดเก็บทั้งตัวเครื่องดนตรีเอง และป้องกันเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ที่เก็บไว้ใกล้เคียงกันด้วย
  2. ใช้น้ำยาทำความสะอาดเฉพาะเครื่องดนตรีแต่ละชนิด เช่น ประเภทเป่าลมผ่านช่องลม ให้ใช้ผ้านุ่มเช็ดตัวเครื่องก่อนและหลังการเป่า ส่วนเครื่องเป่าที่เป็นโลหะ ให้ใช้ผ้านุ่มแตะน้ำมันที่ใช้สำหรับทำความสะอาดเครื่องดนตรี แล้วลูบไปตามกระเดื่องกลไกและตัวเครื่องให้ทั่ว เพื่อทำให้กระเดืองกลไกเกิดความคล่องตัวในการใช้งาน และช่วยไม่ให้เกิดสนิม หรือ ประเภทเป่าลมผ่านลิ้น มีวิธีการดูแลรักษาคล้ายกับเครื่องเป่าโลหะ (ปิคโคโลและฟลูต) และเพิ่มการทำความสะอาดปากเป่าและลิ้นด้วยการถอดออกมาล้างทำความสะอาด จากนั้นผึ่งลมและเช็ดให้แห้งก่อนใช้ฝาครอบสวมส่วนบน แล้วจึงเก็บใส่กล่องให้เรียบร้อย
  3. เก็บใส่ภาชนะที่มีลักษณะเฉพาะของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด โดยเครื่องดนตรีแต่ละชนิด จะมีกล่อง หรือถุงสำหรับเก็บแถมมาด้วย ซึ่งมีความเหมาะสมในการเก็บรักษา อาจจะช่วยกันความชื้น กันน้ำได้ หากมได้ใช้งานนานๆ เครื่องดนตรีก็ยังคงสภาพไว้เหมือนเดิมไม่ขึ้นรา หรือเนื้อไม้เปื่อย หากไม่ได้เก็บไว้ในกล่องหรือถุงที่เมาะสมอาจจะทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวได้ 
  4. เก็บไว้ในที่ที่มีความเหมาะสม ไม่ว่าจะห้องดนตรีเฉพาะ หรือสำหรับเก็บเครื่องดนตรี เพราะห้องหรือตู้เฉพาะเหล่านี้จะช่วยรักษาสมดุลทางอากาศ ไม่ให้ชื้นไปหรือแห้งไป ทำให้สภาพของเครื่องดนตรีของเรานั้นไม่มีปัญหาและสามารถพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ดังนั้นบ้านใครที่ชื่นชอบการเล่นดนตรีควรมีตู้หรือห้องสำหรับเครื่องดนตรีไว้ด้วย 

ตัวอย่างการดูแลเครื่องดนตรีไทยประเภทไม้ 

– การเก็บรักษาขลุ่ย เมื่อเป่าหรือใช้งานเรียบร้อยแล้ว ควรเช็ดให้สะอาดก่อน แล้วเก็บใส่ถุงให้เรียบร้อย หากเลาขลุ่ยแตก ให้ใช้กาวติดให้แน่นสนิท

   – การเก็บรักษาซอ เมื่อเลิกเล่นให้ลดสายด้วยการหมุนลูกบิดลงประมาณครึ่งรอบ แล้วเลื่อนหมอนรองสายขึ้นไว้บนขอบกะโหลกซอ ทำความสะอาดโดยใช้ผ้าแห้งเช็ด แขวนหรือใส่ถุงเก็บใส่ตู้ให้มิดชิด

–   การเก็บรักษาจะเข้ ให้เก็บไว้ในตู้และคลุมด้วยผ้าที่เย็บเข้ารูป เมื่อใช้บรรเลงเสร็จ ไม่ควรลดสาย เพราะสายจะเข้กับหย่องจะเสียดสีกัน ทำให้หย่องสึก หากนมจะเข้หลุด ให้ใช้กาวติดไว้ในตำแหน่งเดิม

– การเก็บรักษาระนาดเอก–ระนาดทุ้ม ปลดเชือกคล้องหูระนาดข้างซ้ายมือลงข้างหนึ่ง ใช้ผ้าคลุม กันฝุ่นจับ ถ้าเลิกใช้งานโดยถาวร ควรม้วนผืนระนาดเก็บ การม้วนผืนระนาดควรหาผ้ารองหลังผืนระนาดเพื่อป้องกันการเกิดริ้วรอย หากตะกั่วหลุด ควรติดให้อยู่ในสภาพเดิม หากผ้าพันไม้ตีหลุด ให้รีบพันไว้อย่างเดิม ป้องกันลูกระนาดแตก

– การเก็บรักษาฆ้องวง เวลาเก็บให้วางราบกับพื้น ไม่ควรวางตั้ง จะทำให้วงฆ้องหักเร็ว แล้วใช้ผ้าคลุมให้เรียบร้อย ระวังอย่าให้น้ำถูกเชือกแขวนลูกฆ้อง หากตะกั่วถ่วงลูกฆ้องหลุด ต้องติดให้เรียบร้อย

– การเก็บรักษาเครื่องกำกับจังหวะ ทำความสะอาดทั้งก่อนและหลังเล่น ควรมีหีบหรือกล่องใส่ ไม่ควรเก็บรวมกัน เพราะจะทำให้ไม่สะดวกต่อการหยิบใช้